วนมาอีกแล้วช่วงสิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจของเหล่ามนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ พอถึงสัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นเดือนมักจะได้ยินคนรอบตัวบ่นด้วยประโยคเดิม ๆ เสมอไม่ว่าจะเป็น “เมื่อไหร่จะเงินเดือนออก” “ไม่มีเงินกินข้าวแล้ว” “จะอยู่ยังไงให้ถึงสิ้นเดือนเนี่ย” “กินมาม่าวนไปค่ะ” ฟังเล่น ๆ ก็เหมือนจะตลกดีนะคำบ่นพวกนี้ แต่พอลองมาคิดถึงความหมายของประโยคเหล่านี้ดูดี ๆ ก็อาจจะตีความได้ว่า เราไม่มีเงินเก็บสำรองเลยนี่นา! แถมยังชักหน้าไม่ถึงหลังสุด ๆ ต้องรอเงินเดือนอย่างมีความหวังไปวัน ๆ เราอาจจะกำลังใช้ชีวิตแบบแบบเดือนชนเดือนอยู่แบบไม่รู้ตัวก็ได้
แล้วถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินต้องใช้เงินขึ้นมาจะทำยังไงดี หลายคนอาจจะแก้ปัญหาด้วยการยืมพ่อแม่หรือยืมเพื่อน ๆ ก่อนแล้วพอเงินเดือนออกก็ค่อยคืน แต่มันน่าจะดีกว่าที่เราจะมีเงินเก็บสำรองเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เพราะอนาคตนั้นไม่แน่นอน อาจจะมีรายจ่ายที่เราไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ค่าไฟแพงขึ้น โทรศัพท์มือถือเกิดพัง หรืออาจมีกรณีที่เลวร้ายอย่าง ตกงาน หรือคนในครอบครัวป่วยขึ้นมา แม้จะมีประกันสุขภาพแต่ก็ต้องมีค่าจุกจิกเพิ่มขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าส่วนต่างที่ประกันไม่จ่าย ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมพร้อมสำหรับหลาย ๆ อย่างที่อาจจะเกิดขึ้น
วันนี้ก็เลยมีทริคการเก็บเงินง่าย ๆ ที่เราใช้เองมาอยู่ตลอดเเละได้ผลดีมาฝาก ถ้าลองทำตามวิธีพวกนี้รับรองว่ายังไงก็ต้องมีเงินเก็บเพิ่มในบัญชีแน่นอนไม่มากก็น้อย
วิธีที่ 1 เริ่มจากการที่เพื่อน ๆ จะต้องมีบัญชีธนาคารมากกว่า 1 บัญชี และใช้ 1 บัญชีเป็นบัญชีสำหรับเก็บเงินโดยเฉพาะ แบบที่หัวเด็ดตีนขาดยังไงชั้นจะไม่มีวันแตะต้องเงินในนี้เด็ดขาด
วิธีที่ 2 การปัดเศษบัญชีไปเป็นเงินเก็บ ก็คือสมมติว่าในบัญชีที่ใช้ประจำของเพื่อน ๆ มีเงินอยู่ 23,456 บาท เดือนนั้นก็อาจจะตัดสินใจปัดเศษ 456 หรือ 3456 โอนเข้าไปไว้ในบัญชีที่ตั้งให้เป็นเงินออม เท่านี้ก็เท่ากับเดือนนั้นมีเงินเก็บแล้ว
วิธีที่ 3 อาจจะเด็ดขาดไปซักนิดแต่คิดว่าได้ผลดี คือ กำหนดค่าขนมตัวเองวันต่อวัน เหมือนที่แม่ให้เงินเราไปโรงเรียนตอนเด็ก ๆ และเงินที่เหลือในวันนั้นก็ให้เป็นเงินเก็บ เช่น เรากำหนดว่าจะใช้วันละ 200 ถ้าสิ้นสุดวันเหลือเงิน 50 บาทเราก็เก็บ 50 บาทนั้นเข้าบัญชีเงินออมไปโลด วิธีนี้ยังทำให้เราสามารถคำนวนเงินที่เราใช้จ่ายในแต่ละวันได้ง่ายอีกด้วย
วิธีที่ 4 เป็นวิธีโปรดของเราเพราะทำแล้วสนุกดีด้วย คือการเลือกแบงค์ที่เราจะเก็บและไม่ใช้แบงค์นั้น เจอเมื่อไหร่ให้เก็บให้หมด เช่น เราเลือกเก็บแบงค์ 50 เวลาได้ตังทอนเป็นแบงค์ 50 ก็จะเก็บหยอดกระปุกไว้หลาย ๆ เดือนก็มานับทีมันก็ชื่นใจดี แต่วิธีนี้อาจจะเหมาะแค่กับคนที่ยังใช้เงินสดอยู่เพราะปัจจุบันหลายคนก็เปลี่ยนไปใช้ E-Wallet กันเยอะแล้ว
วิธีที่ 5 เก็บเงินให้เกินราคาของที่อยากได้ก่อนค่อยซื้อ สมมติว่า เรามีของที่อยากได้เป็น Airpods Max ราคา 19,XXX ให้เราเก็บเงินให้ได้ 25,000 แม้เราจะผ่อนเพื่อต้องการเก็บแต้มบัตรเครดิตก็ตาม เพื่อที่เราจะได้มีหลักประกันว่าเราจะมีเงินจ่ายค่าของชิ้นนี้และจะไม่เป็นหนี้บัตรเครดิตในอนาคต
วิธีที่ 6 คล้ายกับวิธีที่ 3 แต่จะไม่กดดันเท่า คือ ให้เรากำหนดไปเลยว่าเดือนนี้จะใช้เงินเท่าไหร่ เช่น จะใช้เงินแค่เศษ 3 ส่วน 4 ของเงินเดือนทั้งหมด อีกหนึ่งส่วนก็เก็บเข้าบัญชีเงินออมไปเลย
วิธีที่ 7 วิธีสุดท้ายก็คือวางแผนการใช้เงินให้รอบคอบ คอยหาโปรโมชั่นหรือแพคเกจต่าง ๆ จากสิ่งที่เราใช้ประจำ เช่น ถ้าเรียกรถด้วยแอพพลิเคชั่นไหนบ่อย ๆ ก็ให้ซื้อแพคเกจส่วนลดเก็บไว้ หรือ คอยติดตามช่องทางต่าง ๆ ของร้านค้าเพื่อคอยดูส่วนลดต่าง ๆ ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มาก
ทุกวิธีที่กล่าวมานั้น ขอให้เพื่อน ๆ เลือกไปใช้ให้เหมาะสมกับตัวเองและชีวิตประจำวันหรือนำไปพลิกแพลงใช้ได้ตามสะดวก นอกจากวิธีเก็บเงินแล้วถ้าอยากจะมีเงินเก็บเยอะ ๆ ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการคิดและพฤติกรรมการใช้เงินด้วยนะ เพราะไม่อย่างนั้นก็ไม่มีเงินเหลือเอามาเก็บอยู่ดี คนที่เริ่มต้นเก็บเงินอาจจะรู้สึกว่ายากแต่ ขอให้เชื่อว่าแค่เรามีความตั้งใจอะไร ๆ ก็เป็นไปได้รวมทั้งการเก็บเงินด้วย มามีเงินใช้ไปถึงสิ้นเดือนด้วยกันนะทุกคน
Comments