top of page
Nattawut B.

กลยุทธ์การตั้งราคาด้วยจิตวิทยา ที่ลูกค้าเห็นแล้วต้องใจสั่น

สำหรับในยุคนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีการแข่งขันทางธุรกิจกันค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการแข่งขันกัน

ระหว่างพ่อค้าแม่ขาย ในแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ต่าง ๆ (E-Commerce) ทุกคนจะเห็นได้ชัดเลยว่า ต่างฝ่ายต่างพยายามหาวิธีทำให้แบรนด์ของตัวเองเป็นที่รู้จัก มีการโปรโมตและพัฒนาสินค้าของตัวเอง ให้ดัง ให้ปัง อยู่ตลอดเวลา อ่านมาถึงตรงนี้ทุกคนอาจจะเกิดความสงสัยว่า ถ้าเกิดลักษณะของสินค้าของเรากับคู่แข่งนั้นเหมือนกันแล้วเราจะต้องทำยังไงให้แบรนด์ของเรานั้นแตกต่าง และให้คนมาซื้อสินค้าของเรามากขึ้น


ในบทความนี้ DOPE EYES จะพาทุกคนไปรู้จักกับวิธีที่จะช่วยให้แบรนด์ของทุกคนแตกต่างไม่เหมือนใคร ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “จิตวิทยาการตั้งราคา” ถ้าทุกคนอยากรู้ว่าจิตวิทยาในการตั้งราคาคืออะไร แล้วมีวิธีการตั้งยังไงบ้าง ไปติดตามกันเลย!


จิตวิทยาการตั้งราคา คืออะไร ?


จิตวิทยาการตั้งราคา คือ การตั้งราคาสินค้า ที่นำเอาหลักจิตวิทยาเข้ามาใช้เพื่อทำให้การตั้งราคาของสินค้าในแต่ละประเภท ตรงกับกลุ่มลูกค้าที่เราต้องการจะขายโดยไม่จำเป็นต้องลดคุณภาพสินค้า หรือลดปริมาณเลย ซึ่งเรื่องของการตั้งราคาสินค้านั้นสำคัญมาก เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนที่เป็นเจ้าของแบรนด์ต่าง ๆ ควรจะรู้ไว้ เพราะถ้าทุกคนรู้ถึงเคล็ดลับการตั้งราคามากเท่าไหร่ ก็แปลว่าจะได้เปรียบคู่แข่งมากเท่านั้น


4 วิธีตั้งราคาสินค้าให้ถูกใจ ด้วยหลักจิตวิทยา


หลังจากได้รู้จักกันแล้วว่าจิตวิทยาการตั้งราคาคืออะไร ทุกคนอาจสงสัยแล้วว่าเราควรตั้งราคาแบบไหนเพื่อให้สินค้าของเราแตกต่าง สามารถดึงดูดลูกค้า และเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น DOPE EYES ได้นำ

“4 วิธีตั้งราคาสินค้าด้วยหลักจิตวิทยา” มาฝากให้ทุกคนได้นำไปปรับใช้กัน


1. การตั้งราคาให้น่าดึงดูด (Charm Pricing)


“สินค้าราคา 199, 399, 599” ทุกคนคงเห็นกันได้ทั่วไปกับสินค้าที่มีการตั้งราคาแบบนี้ ซึ่งก็คือการตั้งราคาที่ลงท้ายด้วยเลขเก้า เหตุผลที่ร้านค้าส่วนใหญ่นิยมตั้งราคาแบบนี้ ก็เพราะการรับรู้ของคนเรานั้นมักจะอ่านจากซ้ายไปขวา ในเรื่องของการประเมินราคาก็เหมือนกัน ถ้าการที่เลขตัวแรกยิ่งน้อย ลูกค้าจะยิ่งรู้สึกว่าราคาสินค้านั้นไม่แพงจนเกินไป


ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราตั้งราคาสินค้าที่ราคา 399 บาท ลูกค้าที่มาเลือกซื้อจะรู้สึกว่าสินค้าของเรานั้น

ราคาถูกและคุ้มค่ากว่าสินค้าราคาเต็มอย่าง 400 บาท นั่นเอง

2. การตั้งราคาแบบหลอกล่อ (Decoy Pricing)


“เพิ่มอีกหน่อยก็ได้ของดีกว่า” ทุกคนน่าจะคุ้นชินกับคำพูดนี้ ซึ่งเรามักเจอคำพูดนี้ได้ในวิธีของการตั้งราคาแบบนึงที่มีชื่อว่า “Decoy Pricing” อธิบายง่าย ๆ ก็คือ การตั้งราคาสินค้าใดสินค้าหนึ่งขึ้นมาให้รู้สึกไม่คุ้มค่า เหมือนเป็นตัวเลือก “หลอกล่อ” เพื่อทำให้ราคาสินค้าอื่น ๆ ของเรานั้นมีความน่าสนใจและดูคุ้มค่ามากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น

ร้านกาแฟแห่งหนึ่งมีขนาดไซส์อยู่สามขนาด คือ

1. ราคาแก้วเล็กราคา 60 บาท

2. ราคาแก้วกลางราคา 90 บาท

3. ราคาแก้วใหญ่ราคา 100 บาท

จากทั้งสามราคานี้จะเห็นได้ว่าราคาแก้วขนาดกลางมีความคุ้มค่าน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับราคาแก้วใหญ่ที่ดูจะคุ้มกว่ามาก เพียงแค่เพิ่มอีก 10 บาท ก็จะได้แก้วปริมาณที่มากกว่า ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ลูกค้าเลือกซื้อราคาแก้วใหญ่มากขึ้นนั่นเอง


3. การตั้งราคาแบบเหมารวมสินค้า (Bundle Pricing)


“ซื้อ 3 ชิ้น ลดทันที 50%” ทุกคนน่าจะเคยเห็นกันกับวิธีการตั้งราคาแบบนี้ ที่ถูกเรียกว่า “การตั้งราคาแบบเหมารวมสินค้า” ความหมายก็ตรงตัวตามชื่อก็คือ การขายสินค้าแบบเหมาซึ่งวิธีนี้จะทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความคุ้มค่า ยิ่งซื้อมากก็ยิ่งถูก ทำให้ราคาสินค้าต่อชิ้นถูกลง


ยกตัวอย่าง จะเห็นได้ในสินค้าหลายประเภท เช่น รองเท้า, ถุงเท้า, เสื้อผ้า หรือแม้แต่คอร์สเรียนพิเศษต่าง ๆ ที่จ่ายราคาเหมาแล้วสามารถเรียนได้ในระยะยาว เลยทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความคุ้มค่านั่นเอง


4. การตั้งราคาแบบแยกค่าส่งออกจากราคาสินค้า


เป็นอีกวิธีง่าย ๆ เพียงแค่เราแยกค่าส่งออกจากราคาสินค้าทั้งหมด เหตุผลเพราะต้องการให้ลูกค้าไม่เห็นถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดของสินค้าเรา และพอถึงตอนที่ลูกค้ามาเลือกซื้อสินค้าและนำราคาไปเปรียบเทียบกับร้านอื่น ๆ จะทำให้สินค้าดูไม่แพงมาก เพราะโดยปกติของลูกค้าส่วนใหญ่ มักจะเอาราคารวมทั้งหมด นำไปเทียบหาร้านที่ถูกที่สุดดังนั้นการตั้งราคาแบบรวมค่าส่งไว้เลยอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีซักเท่าไหร่ เพราะจะทำให้สินค้าเราดูราคาแพงกว่าที่อื่น


ยกตัวอย่างเช่น

- ร้านขายเสื้อผ้าของคู่แข่งเรา ขายชิ้นละ 440 ไม่รวมส่ง

- ร้านขายเสื้อผ้าของร้านเรา ขายชิ้นละ 500 รวมส่ง

จากตัวอย่าง ความคิดแรกที่ทุกคนน่าจะเลือกกันก็คงจะเป็นสินค้าของร้านคู่แข่งเพราะดูราคาถูกกว่า

ดังนั้นพอลูกค้านำราคามาเปรียบเทียบกัน แน่นอนว่าต้องเลือกซื้อสินค้าจากร้านที่ถูกที่สุด ดูคุ้มค่ามากที่สุดสำหรับตัวเองก่อนเสมอ


เป็นยังไงกันบ้างสำหรับ “วิธีตั้งราคาสินค้าด้วยหลักจิตวิทยา” พวกเรา DOPE EYES ก็หวังว่าข้อมูลตรงนี้จะมีประโยชน์ และอยากบอกทุกคนว่า ยังมีอีกหลายวิธี ที่จะช่วยให้สินค้าหรือบริการของเรามีความน่าสนใจมากขึ้นโดยสิ่งที่สำคัญที่สุดที่อยากจะฝากทุกคนไว้เลยก็คือ อย่าลืมว่าเราก็ต้องพัฒนาสินค้าอยู่ตลอดเพื่อให้คุณภาพเหมาะสมกับราคาที่เราตั้งไว้ เพราะถ้าตัวสินค้าเราไม่ดี ไม่ว่าจะใช้วิธีไหน ลูกค้าก็จะไม่ให้ความสนใจกับสินค้าของเราอยู่ดี







54 views0 comments

댓글


bottom of page