ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 23 ปีที่แล้ว หรือในปี พ.ศ. 2540 ที่ผ่านมา ประเทศไทยของเราเองเคยเจอกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งสำคัญของประเทศ หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อของ 'วิกฤติต้มยำกุ้ง' ที่ส่งผลให้ธุรกิจประเภทยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร หรืออสังหาริมทรัพย์ต่างพากันล้มระเนระนาดเพราะขาดสภาพคล่อง ดูได้จากการที่คนกู้ยืมเงินจำนวนมากเพื่อมาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์จนคอนโด หรือบ้านที่มีราคาแพง สามารถขายหมดภายในระยะเวลาอันสั้นทั้ง ๆ ที่คอนโดนั้นยังไม่ทันได้สร้างด้วยซ้ำ
เผื่อใครยังไม่รู้จักว่าวิกฤติฟองสบู่แตกคืออะไร เรามาทำความรู้จักกันคร่าว ๆ ก่อนดีกว่า
วิกฤติฟองสบู่แตก หรือเรียกว่า 'Economic Bubble' เป็นวิกฤติทางการเงินที่ราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ มีราคาสูงเกินความเป็นจริงจากการเก็งกำไร และเมื่อราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ เป็นวงจรเหมือนฟองสบู่ที่ขยายตัว และเมื่อขยายตัวไปจนถึงจุดหนึ่งที่ราคามันสูงเกินไปฟองสบู่ก็แตก
ถึงแม้ในเหตุการณ์นั้นจะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันของเหล่าชาวไทย แต่วิกฤติในปี 2540 นั้นก็คงไม่ใช่เหตุการณ์ฟองสบู่แตกครั้งแรกอย่างแน่นอน
แล้วเหตุการณ์ฟองสบู่แตกครั้งแรกเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่?
เหตุการณ์ฟองสบู่แตกครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นในช่วงปีค.ศ. 1636-1637 ณ ประเทศเนเธอแลนด์ ซึ่งในสมัยนั้นเป็นยุคสมัยที่รุ่งเรืองของชาวดัตช์ หลังจากที่ตกเป็นเมืองขึ้นของสเปนอยู่นาน ชาวดัตช์และรัฐบาลก็ได้ช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจ จนกลายมาเป็นผู้นำและมหาอำนาจทางทะเล นอกจากนี้เมืองหลวงอย่างเมืองอัมสเตอร์ดัมยังเป็นศูนย์กลางทางการเงินของยุโรป และเป็นประเทศระบอบทุนนิยมประเทศแรกของโลกอีกด้วย
แน่นอนว่าเมื่อเศรษฐกิจเฟื่องฟูขนาดนี้แล้ว ประชาชนในเมืองเองก็ร่ำรวยตามไปด้วย และเครื่องแสดงฐานะในสมัยนั้นก็คงหนีไม่พ้นดอกทิวลิป บางคนอาจจะสงสัยว่า ดอกทิวลิปก็เป็นดอกไม้ที่หาได้ทั่วไปที่ประเทศเนเธอแลนด์ไม่ใช่หรอ แถมยังเป็นสัญลักษณ์ของชาวดัชต์อีกด้วย แต่จริง ๆ แล้วในสมัยนั้นดอกทิวลิปเป็นดอกไม้ที่หายาก ประเทศในแถบตะวันตกไม่มีประเทศไหนที่สามารถปลูกดอกทิวลิปได้เลย เพราะเป็นดอกไม้ที่นำเข้ามาจากประเทศแถบตะวันออกกลาง โดยสุลต่านตุรกีเป็นคนมอบให้ชนชั้นสูงของชาวยุโรป ก่อนที่จะแพร่กระจายและขยายตัวไปเมืองอื่น
ดังนั้นเมื่อดอกทิวลิป กลายเป็นสัญลักษณ์ของคนที่มีฐานะแล้ว ชาวดัตช์จึงเกิดความคิดที่จะเพาะดอกทิวลิปขาย โดยดัดแปลงและเพาะดอกทิวลิปให้มีหลากหลายสีขึ้น และสิ่งนี้เองยิ่งทำให้ดอกทิวลิปมีค่าเปรียบเหมือนทองคำกันเลยทีเดียว!
และจุดพีคที่ทำให้เกิดสงครามแย่งดอกทิวลิปกันก็คือจำนวนดอกไม้ไม่พอต่อความต้องการ! เพราะปกติแล้วดอกทิวลิปจะบานเพียง 3 เดือนต่อปี คือในช่วงเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนสิงหาคมเท่านั้นแล้วหลังจากนั้นดอกทิวลิปจะเหลือแต่หัว หรือเรียกว่า Semper Augustus ซึ่งหัวนี้แหละเรียกได้ว่าเป็นสิ่งล้ำค่าที่ไม่ว่าใครก็อยากได้เพื่อนำไปปลูกต่อ บวกกับดอกทิวลิปเริ่มฮิตมากขึ้นในหมู่คนรวย ยิ่งทำให้ความต้องการดอกทิวลิปมีมากขึ้นไปอีก
แต่ดอกทิวลิปดันมีจำนวนจำกัดดังนั้นจึงเกิดการจองกันเกิดขึ้น โดยใช้ชื่อเรียกว่า “สัญญาซื้อขายทิวลิปล่วงหน้า (Future Contract)”
ซึ่งทุกคนคงคิดว่าชาวดัตช์จะซื้อหัวทิวลิปไปปลูกกันใช่ไหม? แต่คำตอบคือไม่! เพราะคนส่วนใหญ่ซื้อหัวทิวลิปไปเพื่อเก็งกำไร เช่นซื้อมาในหลักสิบ แต่ขายในหลักร้อย มีหรือที่คนจะไม่แห่กันไปซื้อหัวดอกทิวลิปเพื่อหวังจะรวยทางลัด! จากตามบันทึกได้กล่าวไว้ว่า ราคาหัวดอกทิวลิปพุ่งขึ้นจาก 25 กิลเดอร์ ไป 200 กิลเดอร์ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น และก็ตามคาดในขณะที่ราคาดอกทิวลิปพุ่งสูง อยู่ ๆ ราคาก็ลดฮวบลงอย่างน่าใจหาย จากหัวดอกทิวลิปที่เคยขึ้นไปสูงถึง 200 กิลเดอร์ ค่อย ๆ ร่วงลงเรื่อย ๆ จนเหลือเพียง 0.1 กิลเดอร์ จากเหตุการณ์นี้เองส่งผลให้ฟองสบู่ที่กำลังใหญ่ขึ้นแตกออก ดอกทิวลิปที่เคยมีค่ามากกว่าบ้าน กลับกลายเป็นสิ่งไร้ค่า จนผู้คนเองต่างก็เริ่มตระหนักได้ว่าดอกทิวลิปก็เป็นเพียงแค่ดอกไม้ธรรมดาเท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ Tulip Mania นอกจากจะเป็นบทเรียนที่ดีให้กับคนอีกหลายล้านคนถึงความโลภของมนุษย์แล้ว ดอกทิวลิปยังเป็นจุดขายที่สำคัญของประเทศเนเธอแลนด์ในด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย
Comentarios