top of page
Writer's pictureWaetanee P.

Retail Therapy เครียดเมื่อไหร่ ให้ช้อปปิ้งช่วยบำบัด

ในวันที่อะไรก็ไม่เป็นดั่งใจ ทุกสิ่ง ทุกอย่างถาโถมเข้ามาพร้อมกัน ทั้งเรื่องงาน เรื่องเพื่อน ไปจนถึงเรื่องแฟน ไม่มีอะไรที่เราสามารถควบคุมได้ซักอย่าง จนต้องหาวิธีระบายความเครียดเหล่านั้นออกไป ไม่ว่าจะดูหนัง ฟังเพลง อ่านการ์ตูน กินของอร่อย ๆ หรืออีกหนึ่งวิธีที่หลาย ๆ คนชอบใช้กัน นั่นก็คือ

“การช้อปปิ้ง”


มากกว่าเงินที่เสียไป คืออำนาจเล็ก ๆ ที่เราได้ครอบครอง



การช้อปปิ้งบำบัด หรือ Retail Therapy หนึ่งในวิธีการแก้เครียด โดยการใช้เงินซื้อความสุขบางอย่างให้กับเรา ไม่ว่าสิ่งของนั้นจะได้ใช้หรือไม่ก็ตาม แล้วทำไมการช้อปปิ้งถึงช่วยคลายเครียดได้ ทั้ง ๆ ที่บางครั้งมันเป็นการเสียเงินโดยไม่จำเป็น ?


เพราะนอกจากสิ่งของที่เราได้มานั้น คือ “อำนาจ” ในการควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเราเอง จากที่เราต้องเจอสถานการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมมาทั้งวัน จนเกิดความเครียด พาลหงุดหงิดไปซะหมด การที่เราได้เดินเลือกซื้อของ แล้วเดินไปจ่ายเงิน ก็เหมือนเราได้บรรลุเป้าหมายหนึ่งอย่างในวันที่ไม่มีอะไรได้ดั่งใจเลย บางทีแค่การซื้อลิปสติก 1 แท่ง ก็ช่วยให้เราอารมณ์ดีขึ้นมาได้เลย


ช้อปปิ้งออนไลน์ยิ่งทำให้มีความสุขง่ายขึ้น



บางครั้งการช้อปปิ้งบำบัด อาจจะไม่ต้องเสียเงินเสมอไป ยิ่งกับการช้อปปิ้งออนไลน์แล้ว เพียงแค่เรากดของใส่ตะกร้าทิ้งไว้ ผ่านไปสักพักเราก็รู้สึกดีมากขึ้นแล้ว เพราะความตื่นเต้นมันได้เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนที่เรากดเลือกสินค้าที่เราอยากได้ใส่ตะกร้าแล้วนั่นเอง


หรือหากมีการเสียเงินเกิดขึ้น สิ่งที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่า คือการรอพัสดุมาส่ง โมเม้นต์ที่ได้เห็นกล่องไปรษณีย์มาส่งเต็มหน้าบ้าน มันเหมือนกับกล่องของขวัญที่เรารอที่จะเปิดมันอย่างใจจดใจจ่อเลยล่ะ


ช้อปบำบัด ไม่ใช่ ช้อปบานปลาย



วินาทีที่ตัดสินใจกดซื้อของ รูดบัตรเครดิตไป มันช่างมีความสุขเหลือเกิน แต่พอสติเริ่มมา ความรู้สึก

ตื่นเต้น หรือเห่อของใหม่ในตอนแรก กลับกลายเป็นความรู้สึกผิด จนเริ่มมีความคิดว่า “ซื้อมาทำไม เสียดายเงิน” เกิดขึ้นแทน หากคุณเริ่มรู้สึกแบบนี้ แสดงว่าการช้อปปิ้งอาจจะไม่ใช่วิธีแก้เครียดในระยะยาวแล้ว หากคุณเริ่มเครียดแล้วอยากช้อปปิ้ง เรามีวิธีป้องกันไม่ให้ช้อปปิ้งบำบัด ต้องกลายเป็นช้อปปิ้งบานปลาย ที่ไม่ทำให้คุณต้องมาเครียดกับเงินในกระเป๋าทีหลัง


1.ตั้งงบไว้ก่อนช้อป


สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาแน่ ๆ จากการช้อปปิ้งบำบัด คือการใช้เงินเกินความจำเป็นนั่นเอง ดังนั้นเราควรตั้งงบสำหรับการช้อปปิ้งบำบัดไว้ อาจจะแบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับการช้อปปิ้งบำบัดในแต่ละเดือน และถ้าหากคุณซื้อของจนถึงงบที่จำกัดไว้แล้ว ให้เปลี่ยนมาเป็นการเก็บเงินสำหรับของที่เราอยากได้แทน เป็นการช่วยให้เราเบนความสนใจจากการซื้อของได้ด้วย


2.ซื้อแต่ของที่ต้องใช้จริง ๆ


ถ้าการช้อปปิ้งสามารถช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้ ก็แค่เปลี่ยนจากซื้อของที่คุณไม่ได้ต้องการจริง ๆ มาเป็นของที่ใช้ประจำแทนสิ! ถึงแม้การซื้อของเข้าบ้านจะไม่ได้สนุก หรือมีอะไรให้ตื่นเต้นมากนัก คุณอาจจะลองเปลี่ยนไปซื้อจากร้านใหม่ ๆ แทนบ้าง เพราะแค่การเดินเลือกซื้อของบนชั้น ก็ให้ฟีลลิ่งเหมือนการช้อปปิ้งได้ บางทีคุณอาจจะได้เจอของใหม่ ๆ ที่คุณอยากลองก็ได้นะ


3.แค่เดินดูแต่ไม่ซื้อ


เมื่อไหร่ที่คุณเริ่มรู้สึกอยากช้อปปิ้งแก้เครียด ให้ลองไปเดินดูของเฉย ๆ ก่อนที่จะเสียเงินซื้ออะไร เพราะบางทีแค่ได้เดินดูของต่าง ๆ ก็ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นได้แล้ว


4.ให้เวลาคิดก่อนซื้อ


ลองให้เวลาตัวเองในการตัดสินใจซื้อของดูก่อน เมื่อไหร่ที่คุณเริ่มอยากจะซื้ออะไรบางอย่างขึ้นมา อย่าเพิ่งรีบซื้อทันที ให้ลองเว้นระยะไปสักวัน สองวันก่อน ถ้าหากเวลาผ่านไปแล้วคุณยังมีความอยากได้อยู่ แสดงว่าคุณต้องการของสิ่งนั้นจริง ๆ แต่ถ้าไม่ เราก็จะได้ไม่ต้องเสียเงิน


แต่ละคนต่างก็มีวิธีรับมือกับความเครียดแตกต่างกัน แต่ถ้าหากใครที่ชอบใช้วิธีช้อปปิ้งแก้เครียด จงมีสติในการช้อป ระวังไม่ให้ช้อปจนเดือดร้อนการเงินของตัวเอง เพราะไม่งั้นจะมีเรื่องกระเป๋าฟีบมาให้เครียดเพิ่มแทน



29 views0 comments

Comments


bottom of page