เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่เคยเห็นคำว่า Error 404 มาก่อนแน่นอน เพราะเรามักจะเจอคำนี้บ่อยจนถึงขนาดที่ว่าคนเอาไปสร้างเป็น Meme เอาไว้ล้อเวลาที่เรารออะไรนาน ๆ หรืองาน Overload เกินไป แล้วเคยสงสัยไหมว่า ทำไมต้องเป็นเลข 404 จริง ๆ แล้วมันมีความหมายอะไรซ่อนอยู่รึเปล่า ?
ก่อนที่ Dope Eyes จะพาไปหาคำอธิบาย เหตุผลว่าทำไมต้องเป็น Error 404 เราต้องมาทำความรู้จักกับคำ ๆ นี้กันก่อน
Error 404 เกิดขึ้นได้ยังไง?
Error 404 หรือเรียกว่า Client Side Error โดยปกติแล้วจะหมายถึง Webpage ที่เรากำลังจะเข้านั้นไม่พบข้อมูลบน Server หรือ URL ของหน้าเว็บไซต์นี้ไม่พร้อมใช้งานนั่นเอง ซึ่งก็อาจจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการที่เปลี่ยนข้อมูลในเว็บไซต์แล้วอยากเปลี่ยนชื่อ URL ให้ตรงกับเนื้อหานั้น ๆ หรือว่าจะเป็นการเปลี่ยนชื่อลิงก์จากไทยเป็นอังกฤษ หรือจากอังกฤษเป็นไทย และยังเกิดได้จากการลบหน้าเพจ หรือมีการเลิกขายสินค้า อิงจากที่ส่วนใหญ่เราจะพบหน้า Error 404 บนเว็บไซต์ E-Commerce
แล้วตัวเลข 404 จริง ๆ มันหมายถึงอะไร ?
ก่อนอื่นเลยเราต้องเข้าใจกันก่อนว่า เวลาที่เราพยายามจะเข้า Webpage สักเว็บ คอมพิวเตอร์จะขอ Data จาก Server โดยใช้ HTTP หรือ Hypertext Transfer Protocol ในการเข้า แล้วเจ้าเลข 404 นี้แหละคือ HTTP Status Code ที่ใช้ทุกครั้งที่ในการเข้า Webpage ต่าง ๆ
ส่วนเว็บเพจที่แสดงผลปกติจะมีรหัสเป็นเลข 200 ซึ่งมันมักจะไม่แสดงตัวเลขโชว์ขึ้นมาเพราะเนื้อหาปรากฏขึ้นมาแล้ว ดังนั้นการที่เราเห็นเลข 404 นั้นเป็นเพราะมันเกิดความผิดพลาดของการนำส่งข้อมูลนั่นเอง
โดยเลข ‘4’ ตัวแรก หมายถึง การที่มีบางสิ่งผิดพลาดไป ไม่ว่าจะเป็นการเขียนลิงก์ URL ผิด หรือ Requesting Page ได้ถูกลบออกไป
เลข ‘0’ ถัดมา หมายถึง General Syntax Error หรือ ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการเขียนโค้ดโปรแกรมผิดรูปแบบ จากการสะกด URL ผิด หรือจะเป็นการลืมปิดปีกกา หรือวงเล็บเวลาเขียนโค้ด
เลข ‘4’ สุดท้าย หมายถึง Specific Error ซึ่งเป็นรหัสที่อยู่ในกลุ่มของ 40x
ทำไมถึงเรียกว่า “404” ?
ถ้าพูดถึงที่มาของ Error 404 คาดว่าน่าจะเรียกกันตามมาจากห้อง CERN ที่องค์กรวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป (European Organization of Nuclear Research) เพราะเป็นที่ตั้งของเว็บ Server ดั้งเดิม แต่ถึงอย่างไรก็ตามการคาดเดานี้ถูกพิสูจน์ว่าผิดโดย Robert Cailliau (World Wide Web inventor at CERN) โดยเขาได้กล่าวว่าจากการที่เขาได้ทำงานบนชั้น 4 ของอาคาร แต่กลับหาห้อง 404 บนชั้น 4 ของอาคารไม่พบเพราะห้องแรกของชั้น 4 ก็เริ่มต้นที่ห้อง 410 แล้ว เขาได้อธิบายเพิ่มเติมว่าระบบการนับเลขสำนักงานของ CERN นั้นเรียงลำดับโดยตัวแรกหมายถึง Building Number ส่วนอีก 2 ตัวที่เหลือหมายถึง Office Number ซึ่งการที่เขาหาห้อง 404 ไม่พบจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ Error 404 กลายเป็น Code ลับที่แสดงว่าสิ่งนั้นไม่มีอยู่จริง
แล้วจะเช็กได้ยังไงว่าเว็บไซต์ไหนขึ้น Error 404 บ้าง?
Google Search Console เป็นระบบที่คอยช่วยเช็กว่าเว็บไซต์ไหนขึ้น Error 404 บ้าง โดยเพื่อน ๆ สามารถเช็กได้โดย Submit URL Website แล้วทาง Google จะใช้เวลาประมวลผลประมาณ 1-2 วัน จากนั้นเลือกเมนู ดัชนี และคลิกที่ ‘ครอบคลุม’ ระบบจะแสดงผลขึ้นมาให้ว่ามีหน้าไหนบ้างที่มีความผิดปกติ ที่ทำให้หน้าเว็บของเราขึ้น Error 404
การที่หน้าเว็บไซต์ของเราขึ้น Error 404 นั้นนอกจากจะส่งผลรบกวนการใช้งานแล้ว ยังส่งผลถึงความน่าเชื่อถือของแบรนด์ และส่งผลให้การจัดอันดับ SEO ของเว็บไซต์เราลดลงอีกด้วย ดังนั้นเราจึงควรตรวจสอบและเรียนรู้วิธีในการแก้ปัญหานี้เพื่อให้เว็บเพจของเราเป็นเว็บไซต์ที่มีคุณภาพและน่าดึงดูด
Comments